HOODIE เรื่องเล่าใต้เงาฮู้ด
- 3P GARMENT
- 14 ก.ย. 2562
- ยาว 1 นาที

HOODIE เรื่องเล่าใต้เงาฮู้ด
พูดถึงเสื้อฮู้ดคุณนึกถึงภาพใดในหัวบ้าง บางคนอาจตอบว่า ภาพของศิลปินแนวสตรีท ฮิปฮอป บ้างก็อาจพูดถึงชุดของยมทูต บางคนบอกว่าเป็นเสื้อออกกำลังกาย แถมยังมีบางเสียงบอกว่าเป็นเสื้อของผู้ก่อการร้าย แต่แล้วทำไมนักธุรกิจระดับโลกบางคนถึงสวมใส่เสื้อฮู้ดเล่า ไม่ว่าคุณจะมีมุมมองต่อเสื้อฮู้ดอย่างไร ก็ไม่ใช่เรื่องผิด เพราะภายใต้ร่มเงาของฮู้ดนั้นเก็บซ่อนเรื่องราวที่น่าสนใจเอาไว้มากมาย แต่จะน่าสนใจแค่ไหน เชิญติดตามกันได้เลย
คำว่า Hood มีรากศัพท์มาจาก ภาษาของชาว แองโกล-แซกซัน (Anglo-Saxons) จากคำว่า Hod ซึ่งมีรากศัพท์มาจากภาษาอังกฤษยุคเก่าจากคำว่า “Hat” ที่แปลว่า “หมวก” นั่นเอง
ถ้าจะถามว่าเสื้อฮู้ดมาจากไหน ต้องย้อนไปตั้งแต่ยุคกรีกและโรมัน เราจะมักจะเห็นรูปปั้นของยุคนั้นใส่ผ้าคลุมที่มีฮู้ดย้วยๆ อยู่ข้างหลัง ต่อมาในยุคกลางของยุโรป นักบวชจะสวมใส่เสื้อคลุมที่มีฮู้ดติดอยู่ เรียกว่า Cowls (อ่านว่า แควลส์ แปลว่า เสื้อคลุม) ขณะที่ช่วงศตวรรษที่ 12 (ซึ่งเป็นยุคหลังจากที่ชาวนอร์มันเข้ามาปกครองอังกฤษหมาดๆ) ผู้คนที่ทำงานกลางแจ้งในฤดูหนาวจะสวมผ้าคลุมไหล่ (Capes) ที่มีฮู้ดติดอยู่ เรียกเสื้อนี้ว่า “Chaperon” ขณะที่ สตรีในศตวรรษที่ 17 จะสวมใส่เสื้อคลุมที่มีฮู้ดเพื่ออำพรางตนเองเวลาออกไปหาคนรัก
เสื้อฮู้ดถูกคลี่คลายจากผ้าคลุมหรือเสื้อคลุม มาอยู่ในรูปแบบเสวตเชิ้ตฮู้ด ในปี ค.ศ. 1930 โดยบริษัท US Company Champion ซึ่งได้ใช้นวัตกรรมการทอเสื้อชนิดดังกล่างด้วยเส้นใยที่หนาขึ้น เพื่อประโยชน์ของคนทำงานที่ต้องการความอบอุ่นในช่วงฤดูหนาวที่หนาวจัดในนิวยอร์ค และจากนั้นบริษัทดังกล่าวก็ได้ออกแบบเสื้อกีฬาสำหรับเด็กในรูปแบบเดียวกัน
ในช่วงปีค.ศ.1970 วัฒนธรรมสตรีทและฮิปฮอป เริ่มก่อตัวขึ้นในนิวยอร์ค เสื้อฮู้ดถูกนำมาสวมใส่ เพราะสะดวก ผู้สวมใส่รู้สึกคล่องตัวและยังสามารถใช้ปกปิดตัวตนได้อีกด้วย ในช่วงเวลาดังกล่าว ดีไซเนอร์ชาวอเมริกาเชื้อสายเลบานอน- สเปน นามว่า Norma Kamali (นอร์มา คามาลิ) ผู้ที่ได้ยอมรับว่าเป็นดีไซน์เนอร์ผู้ออกแบบเสื้อผ้าสมัยใหม่ในยุคนั้น ยังได้หยิบจับเอาเสื้อฮู้ดมาขึ้นเดินแบบแฟชั่นโชว์ ซึ่งในยุคนั้นยังไม่มีใครทำจึงถือว่าเป็นอะไรที่แปลกใหม่มากๆ สำหรับวงการแฟชั่น
ทว่าเสื้อฮู้ด ได้โด่งดังจนกลายมาเป็นต้นแบบของเสื้อใส่วิ่งออกกำลังกาย เนื่องมาจากภาพยนตร์เรื่อง ROCKY นำแสดงโดย ซิลเวสเตอร์ สตาโลนส์ ซึ่งมีฉากหนึ่งที่ตัวเอกของเรื่องได้สวมเสื้อเสวตเชิ๊ตสีเทามีฮูดวิ่งออกกำลังกาย หลังจากที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับรางวัลออสการ์ถึง 3 รางวัล หลังจากนั้น ไม่ว่าจะเป็นหนังเรื่องใดที่มีการวิ่งออกกำลังกาย ชุดของตัวละครที่ใส่วิ่ง ก็มักจะเป็นเสื้อฮู้ดสีเทาแทบทั้งสิ้น

ฟังดูแล้วเสื้อฮู้ดดูเหมือนกำลังไปได้สวยเลยใช่ไหม ทว่าในช่วงปี ค.ศ.1990 มุมมองต่อเสื้อฮู้ดกลับเปลี่ยนแปลงไป หลายคนเริ่มมองว่า ผู้สวมใส่เสื้อฮู้ด เป็นภาพลักษณ์ของผู้ก่อการร้าย หรือ คนชายขอบ ศูนย์การค้ายอดนิยมในเมือง Kent ได้สั่งห้ามไม่ให้ลูกค้าสวมใส่เสื้อฮู้ดเข้ามาช็อปปิ้ง เป็นเหตุให้เสื้อฮู้ดกลายมาเป็นเสื้อผ้าที่ถูกเลหลัง

อย่างไรก็ดี เสื้อฮู้ดไม่ได้ถูกฆ่าตายไปอย่างง่ายๆ มีเนื้อหาตอนหนึ่งใน TED TalK โดย เพาล่า แอนโทนแนลลี่ เล่าถึงเสื้อฮู้ดไว้อย่างน่าสนใจ เธอกล่าวว่า ทุกครั้งที่นำฮู้ดขึ้นปิดศีรษะ ผู้สวมใส่จะรู้สึกอบอุ่นปลอดภัย ราวกับได้รับความปกป้องในกำบังของตนเอง ซึ่งเป็นความรู้สึกเชิงจิตวิทยา และนอกจากนี้ ฮู้ด ยังแสดงถึงตัวตนบางอย่างของผู้ที่มีอำนาจอย่างแท้จริง โดยยกตัวอย่างนักธุรกิจระดับโลกอย่าง มาร์ค ซักค์เบิร์ก ว่าเป็นนักธุรกิจที่กบฏในการแต่งตัว เพราะเขามักจะสวมใส่เสื้อฮู้ดแทนที่จะใส่สูท เพราะในยุคนี้ผู้ที่สวมใส่เสื้อฮู้ด หรือแม้แต่เสื้อยืดกางเกงยีนส์ง่ายๆ เป็นการแสดงให้เห็นถึงความมีอำนาจอย่างแท้จริง ขณะที่คนใส่สูทกลับถูกมองว่าเป็นบอดี้การ์ดไป
รวมไปถึงการที่เสื้อฮู้ดกลายเป็นสัญลักษณ์ทางการเรียกร้องสิทธิมนุษยชนในสหรัฐ โดยเหตุเกิดขึ้นเมื่อ เด็กหนุ่มเชื้อสายแอฟริกันอเมริกัน วัย 17 ปี นามว่า เทรวอน มาร์ติน โดนยิงเสียชีวิตโดยอาสาพลเรือนผิวขาว เพียงเพราะเขาให้เหตุผลว่าเด็กมีพฤติกรรมน่าสงสัย ทว่าหลังเกิดเหตุการณ์ ผู้ยิงกลับพ้นผิด ถือเป็นผู้บริสุทธิ์ และไม่ได้รับโทษใด ๆ (เพราะอ้างอิงกฏหมายมาตรา “Stand Your Ground” ที่อนุญาตให้เจ้าบ้านตอบโต้ผู้บุกรุกจนถึงแก่ความตายได้โดยชอบ หากตกอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการถูกฆ่า หรือเป็นอันตรายร้ายแรง) เหตุการณ์นี้สะเทือนใจต่อสังคมอย่างมาก หลังจากนั้นก็เกิดม็อปขึ้น ซึ่งคนในม็อปนับล้านต่างใส่เสื้อฮู้ดคลุมหัวและเดินประท้วงไปทั่วสหรัฐ เพื่อต่อต้านความไม่ยุติธรรม ทำให้เสื้อฮู้ดกลายเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ในประวัติศาสตร์
สำหรับบ้านเรา ความนิยมเสื้อฮู้ดมาพร้อมกับความโดงดังของศิลปินนักร้องแร็พโยว่คนแรกในเมืองไทย อย่าง เจ เจตริน วัฒนสิน ทำให้วัยรุ่นยุคนั้นเริ่มหันมาสวมใส่เสื้อฮู้ดกันตามกระแส แถมพ่อเจยังส่งต่อกระแสเสื้อฮู้ดมาจนถึงน้องเจ้านายลูกชายสุดหล่อ ที่ก็มีเสื้อฮู้ดสวมใส่สไตล์สตรีทบอยเช่นกัน กลายเป็นอีกหนึ่งกระแสความนิยมเสื้อฮู้ดในไทยยุคนี้

จากบทความที่เล่ามาคุณคงเห็นแล้วว่า ในวันนี้เครื่องแต่งกายอย่างเสื้อฮู้ด ไม่ได้เป็นแค่เครื่องนุ่งห่มธรรมดาอีกต่อไป แต่กลับมีเรื่องราวแฝงไว้มากมายทั้งประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน และความหมายเชิงสัญลักษณ์ ที่อัดแน่นใต้ร่มเงาของฮู้ดที่คุลมหัว ว่าแล้วต้องไปปัดฝุ่นเสื้อฮู้ดในตู้เสื้อผ้ามาใส่สักหน่อย เพราะพอเขียนบทความถึงตอนนี้ คนเขียนรู้สึกอินกับเรื่องราวของเสื้อฮู้ดขึ้นมาจับใจเลยทีเดียว

תגובות