top of page
ค้นหา

“ผ้าย้อมคราม” หลากเรื่องราวใต้สีเข้มขรึม

  • รูปภาพนักเขียน: 3P GARMENT
    3P GARMENT
  • 16 ก.ย. 2562
  • ยาว 2 นาที

ที่มาของภาพ : https://readthecloud.co/porlaewdee-manncraft/

“ผ้าย้อมคราม” หลากเรื่องราวใต้สีเข้มขรึม

ทุกวันนี้วิถีพื้นถิ่นและอัตลักษณ์ความเป็นไทยถูกหยิบยกมาใช้ในการดำรงชีวิตมากขึ้น รวมไปถึงหนึ่งในปัจจัยสี่หมวดเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกาย ที่คนไทยเริ่มไฝ่หาชิ้นงานจากธรรมชาติมาสวมใส่ ซึ่ง “ผ้าย้อมคราม” ก็คือหนึ่งในความนิยมของคนยุคนี้ เพราะนอกจากความสวยงามแล้ว ภายใต้เส้นใยสีเข้มขรึมของผ้าย้อมครามนั้น ยังมีเรื่องราวมากมายอัดแน่นซุกซ่อนอยู่

สีคราม สีน้ำเงิน หรือ สีนิล?

คำว่า “คราม” มีความหมายหลายทาง ทั้งแปลว่า บ้านที่อยู่อาศัย ก็ได้ เช่น คำว่า ราชคราม แต่ถ้าจะให้เนื่องนำกับบทความ ก็ต้องแปลว่า คราม คือ ต้นไม้ชนิดหนึ่ง ที่ใช้ใบและต้นมาทำเป็นสี “น้ำเงิน”ว่าไป จริงๆ ควรเรียกว่า “สีคราม” น่าจะชัดเจนกว่า เพราะมีข้อมูลจากนิตยสารสารคดี ฉบับ พฤศจิกายน ปี 2014 ได้ตีพิมพ์บทความเรื่อง “ตามหาสีไทยจากครูช่างโบราณถึงงานดีไซน์ไทยๆ” ได้อ้างถึง บันทึกลายพระหัตถ์ของ กรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ ศิลปินคนสำคัญในยุครัชกาลที่ 5 พิมพ์รวมไว้ในหนังสือชุด สาส์นสมเด็จ ระบุว่า “สีน้ำเงิน” ดั้งเดิมนั้น หมายถึง สีของเงินที่หลอมลาย เป็นสีที่อ่อนกว่าสีฟ้า ส่วนที่ปัจจุบันเรียกสีน้ำเงินนั้น โบราณ จะเรียกว่า สี “มอคราม” ขณะที่ชาวผู้ไท ในอีสาน ซึ่งเป็นหนึ่งในชนเผ่าที่ย้อมผ้าด้วยครามมายาวนาน จะเรียกสีครามว่า “สีนิล” ซึ่งตรงกับภาษาสันสกฤต

ในหนังสือ คู่มือมาตรฐานการใช้งานอัตลักษณ์ มหาวิทยาลัยศิลปกร ได้กำหนดสีโทนไทย เพื่อเป็นอัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัย ซึ่งกำหนดว่า สีคราม คือสีประจำคณะศึกษาศาสตร์ ระบุแพนโทนสีในระบบสีเพื่อการพิมพ์ว่า สีคราม ประกอบด้วย C 100 M 80 Y 40 และ K 20 (ระบบสีในการพิมพ์ประกอบด้วยการรวมตัวของสีหลัก 4 สี ได้แก่ Cyan Magenta Yellow และ Black

ครามในประเทศไทย

ที่มาภาพ:http://www.lemurvegetal.com/indigofera-himalayensis-silk-road-boutique-634.html

วารสารไทยศึกษา ปีที่ 10 ฉบับที่ 2 สิงหาคม 2557 ระบุว่า มีหลักฐานว่าต้นคราม มีถิ่นกำเนิดจากอินเดีย แอฟริกา และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทว่าแต่เดิม สีครามที่สกัดแล้ว จะถูกนำเข้าจากอินเดีย ซึ่งชาวอินเดียนั้นนอกจากจะใช้ต้นครามทำสีย้อมผ้าแล้ว ยังใช้ต้นและรากของครามในทางการแพทย์อีกด้วย ขณะที่หลักฐานของครามในไทย ที่เก่าแก่ที่สุด ปราฏในศิลาจารึกวัดช้างล้อม หลักที่ 106 สมัยสุโขทัย ซึ่งได้พรรณาถึงสีของพระธาตุ ว่า “...ใสงามดังผลึกรัตนแก้วเขียวในกลาง ดังผ้าอันท่านชุบครามครั้น”

นอกจากนี้ยังมีการพูดถึงเรื่องเครื่องนุ่งห่มที่ปรากฏใน “ประถม ก กา หัดอ่าน” (ไม่ระบุผู้แต่ง สันนิษฐานว่ามีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลายจนถึงรัตนโกสินท์ยุค ร.5) หมวดแม่ “กม” ว่า “เรื่องความนี้นานกม ชื่อว่ายาขม น้ำนมน้ำต้มส้มมะขาม ขุนนางหนุ่มๆนุ่งปูมดูงาม ห่มผ้าย้อมคราม ไปถามข้อความตามธรรมเนียม” อย่างไรก็ดี ผ้าย้อมคราม ยังเป็นสิ่งสำคัญหนึ่งในวัฒนธรรมการแต่งกายของชนเผ่า โดยเฉพาะชนเผ่าผู้ไทย ในภาคอีสาน

ที่มาของภาพ:https://medthai.com/%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A1/

คราม ไม่ใช่ “ห้อม” และ ห้อม ก็ไม่ใช่ “คราม”

พืชที่ให้สีครามและนำมาย้อมผ้านั้น หลักๆแล้วมี 2 ชนิด คือ ต้นคราม และ ต้นห้อม สองต้นนี้เป็นพืชคนละชนิดกัน เพราะ ต้นห้อม (ฮ่อม) เป็นพืชสกุล Baphicacanthus วงศ์ ACANTHACEA เกิดมากตามริมแม่น้ำทางภาคเหนือ นิยมนำมาใช้ทำสีย้อมผ้าและตัดเสื้อที่เราเรียกว่า “เสื้อม่อฮ่อม” เป็นสินค้าโด่งดังทางจังหวัด แพร่ ขณะที่ ต้นคราม เป็นพืชสกุล Indigofera วงศ์ PAPILIONACEAE เป็นพืชที่เพาะปลูกได้ในดินที่ระบายน้ำดี มีมากในแถบภาคอีสาน โดยเฉพาะจังหวัด สกลนคร ถือว่าเป็นแหล่งผลิตต้นครามแหล่งใหญ่ รวมไปถึงผ้าย้อมครามอันเลื่องชื่ออีกด้วย ซึ่งปัจจุบัน ต้นห้อมทางภาคเหนือลดจำนวนลงมากไม่เพียงพอต่อการนำไปใช้ จึงได้สั่งต้นครามจากภาคอีสานเพื่อนำไปทำสีย้อมแทนต้นห้อม

ต้นครามยังมีสรรพคุณทางการแพทย์ โดยสารานุกรมสมุนไพร โดย วุฒิ วุฒิธรรมเวช ระบุว่า ใบต้นคราม มีรสฝาดเบื่อ ดับพิษ แก้ไข้ตัวร้อน แก้หวัด แก้ปวดศีรษะ อีกด้วย

กว่าจะได้ผ้าย้อมคราม

ขั้นตอนการทำผ้าย้อมครามนั้นสลับซับซ้อน เกินกว่าจะเล่าให้จบใน 1-2 หน้ากระดาษได้ แต่ผู้เขียนจะขอสรุปคร่าวๆ พอสังเขปเพื่อให้ผู้อ่านทุกคนได้เข้าใจ โดยอาศัยข้อมูลจาก งานวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลับเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร เป็นหลัก โดยสรุปความเรื่องการย้อมเส้นใยด้วยครามได้ว่า

ต้นครามที่นิยมนำมาปลูกเพื่อสกัดสีทำผ้าย้อมคราม ในจังหวัดสกลนคร มีสองชนิดคือ ครามฝักตรง และครามฝักงอ ครามที่ปลูกได้อายุราว 3 เดือน และเริ่มออกดอก จะเป็นสัญญาณว่าพร้อมแล้วที่จะถูกนำไปใช้สกัดเป็นสีย้อม และเป็นช่วงอายุที่ให้ปริมาณสีมากที่สุด ผู้ย้อมครามจะเลือกเก็บต้นครามในช่วงเช้ามืดก่อนพระอาทิตย์ขึ้น เพราะมีความเชื่อตามภูมิปัญญาว่า ใบครามที่ยังไม่ถูกแสงแดดจะมีความสดและให้สีสันดี

ที่มาของภาพ:http://i-san.tourismthailand.org/1521/

เมื่อได้ต้นครามมาแล้ว ก็นำมาม้วนใส่ลงไห เติมน้ำ หมักไว้ไม่เกิน 3 คืน รอจนกระทั่งได้น้ำสีเขียวอมเหลือง ก็นำเอากากต้นครามที่หมักไว้ออก แล้วเติมปูนขาว ลงละลายกับน้ำคราม คนให้เข้ากัน โดยสังเกตว่า หากเติมปูนลงแล้วน้ำครามเป็นสีเหลือง และมีฟองสีฟ้าคราม ก็ให้เลิกเติมปูน จากนั้นกวนปูนกับน้ำคราม สลับกับการกระแทกให้เกิดสีครามมากๆ (เพราะต้องอาศัยออกซิเจนในการทำให้เกิดสีคราม) กระทั่งมีฟองขนาดใหญ่ก็ให้หยุดกวน จากนั้นพักไว้ 1 คืนให้ตกตะกอน รุ่งเช้า ก็รินเอาน้ำสีเหลืองด้านบนออก เหลือไว้เฉพาะเนื้อครามที่ละลายกับปูน ขั้นตอนนนี้จะสังเกตเห็นว่า หากครามมีสีครามเข้มสวย แสดงว่าใส่ปูนพอดี หากครามมีสีเทาแสดงว่าใส่ปูนมากไปจะไม่สามารถใช้ได้ เมื่อได้เนื้อครามแล้ว สามารถเก็บรักษาได้ 2 วิธีคือ หมั่นเติมน้ำด่างขี้เถ้าเพื่อรักษาความชื้นของเนื้อครามเอาไว้จะรักษาครามไว้ได้ 2-3 ปี หรือจะนำมาตากแห้งเก็บไว้ใช้เมื่อจะย้อมแบบชาวอีสานใต้ก็ได้

หลังจากได้เนื้อครามแล้ว เมื่อจะย้อม ต้องทำการเตรียมน้ำย้อมก่อน ซึ่งชาวอีสานเรียกขั้นตอนนี้ว่า การก่อหม้อคราม หรือที่อีสานเรียก ก่อหม้อนิล คือการ ผสมเนื้อครามที่ได้กับน้ำด่างขี้เถ้าที่ได้จากพืชพื้นถิ่นเผาแช่น้ำ เช่น เหง้ากล้วย เปลือกต้นนุ่น ฯลฯ นอกจากนี้ก็จะมีส่วนผสมสำหรับช่วยปรับค่าสมดุลกรดด่าง เช่น ปูนขาว น้ำต้มมะขามเปียก น้ำซาวข้าว ฯลฯ ลงในภาชนะดินเผา ซึ่งจะช่วยรักษาอุณหภูมิเย็น (น้ำย้อมเย็นจะ) เมื่อผสมทุกอย่างตามสัดส่วนแล้ว ก็รอเวลาให้ค่ากรดด่างของส่วนผสมเหมาะสม โดยอาจใช้เวลา 2-7 วัน ขึ้นกับ สัดส่วนของเนื้อคราม และทักษะเฉพาะตัว ทั้งนี้ ขณะรอให้ค่าสมดุลกรดด่างของน้ำย้อมได้ที่ ผู้ย้อมต้องใช้ขันตักน้ำครามขึ้นแล้วเทลงกลับไปเพื่อเพิ่มอากาศลงในน้ำย้อม ป้องกันน้ำย้อมเน่าและมีกลิ่นเหม็น ขั้นตอนนี้เรียก “การโจกคราม” ซึ่งให้ทำทุกเช้า-เย็น จนกว่า ค่ากรดด่างจะพอเหมาะต่อการย้อมเส้นใย

ที่มาของภาพ:http://www.khamahuan.go.th/?option=Info&type=19&id=466&

เมื่อได้ที่แล้ว น้ำครามจะเปลี่ยนเป็นสีเขียวอมเหลือง ก็จึง ใส่เส้นใย หรือ ผ้าที่ต้องการย้อมลงย้อม โดยเส้นใยดังกล่าวที่นิยมคือเส้นใยธรรมชาติ เช่น ฝ้าย และเส้นใยเรยอน ซึ่งผลิตในระบบอุตสาหกรรม แต่ไม่ว่าจะเลือกใช้เส้นใยไหน ก่อนย้อมต้องทำความสะอาดเส้นใยให้ดีเพื่อกำจัดสารเคลือบเส้นใยที่อาจติดมา อาจใช้ทั้งวิธีล้างน้ำ ทุบเส้นใยด้วยไม้ หรือ การต้มกับน้ำด่างเพื่อล้างไขมันในเส้นใยฝ้าย (เรียกการฆ่าฝ้าย) และต้องทำให้เส้นใยเปียกน้ำก่อนนำลงหม้อย้อม เพราะจะทำให้สีครามซึมเข้าจับติดกับเส้นใยได้ดี มีสีสม่ำเสมอ ไม่เกิดรอยด่าง เวลาย้อมก็ให้นำเส้นใยลงย้อมในหม้อนิล โดยต้องระวังให้อากาศเข้าน้อยที่สุด เมื่อนำเส้นใยลงไปแล้ว ให้ใช้มือกำสลับคลาย เพื่อกระตุ้นให้น้ำย้อมวิ่งเข้าสู่เส้นใยอย่างทั่วถึงทำเช่นนั้นประมาณ 5-10 นาที และสีของน้ำย้อมใสขึ้นสีเหลืองจางลง จึงหยุดย้อม นำเส้นใยที่ย้อมขึ้นบิดให้หมาด แรกๆ เส้นใยจะมีสีเขียวอมเหลือง พอถูกอากาศสัก 1-2 นาที ก็จะเปลี่ยนเป็นสีคราม โดยต้องมีการกระตุกเส้นใยให้อากาศเข้าไปสัมผัสได้ทั่วถึง จะได้มีสีครามเสมอกัน พักไว้ 1-2 นาที แล้วนำไปใส่ภาชนะมีฝาปิดให้เส้นฝ้ายกลับมาชื้นอีกครั้ง จึงนำไปย้อมซ้ำ โดยทำสลับกันซ้ำไปมา ราว 6-8 ครั้ง จึงจะได้สีครามที่เข้มสวย และเมื่อย้อมถึงขั้นตอนสุดท้ายแล้ว ก็จะนำเส้นใยมาล้างด้วยน้ำสะอาด และแช่น้ำยาปรับผ้านุ่ม ก่อนนำไปผึ่งลมให้แห้ง แล้วนำไปเข้าสู่กระบวนการทอให้เป็นผืนผ้าในลำดับถัดไป

ที่มาของรูป:http://i-san.tourismthailand.org/1521/

เหตุผลที่ควรใส่ผ้าย้อมคราม

ดังที่ได้ระบุไว้ว่าเส้นใยที่ใช้ย้อมครามนั้น ส่วนใหญ่เป็นเส้นใยจากธรรมชาติ โดยเฉพาะเส้นใยจากฝ้าย ซึ่งผ้าชนิดนี้ มีคุณสมบัติในการซับเหงื่อและระบายความร้อนได้ดี มีเนื้อทื่ยืดหยุ่นได้และมีความคงทน ทั้งยังทำความสะอาดง่าย และเมื่อนำมาย้อมด้วยครามซึ่งเป็นสีโทนเข้ม ก็ทำหน้าที่เป็นเสมือนเกราะที่ช่วยดูดซับรังสียูวี ป้องกันไม่ให้รังสีดังกล่าวมาทำร้ายผิวได้อีกด้วย นี้อาจเป็นเหตุผลที่ในอดีต เสื้อผ้าในวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ที่ต้องมีการทำการเกษตร จึงเน้นย้อมเสื้อผ้าสีเข้มเป็นหลักนั่นเอง

ที่มาของภาพ:http://www.nairobroo.com/travel/tips-travelers/k-of-dye-sakedtarm/

ทุกวันนี้นอกจากการย้อมเส้นใยด้วยครามก่อนนำไปทอเป็นผ้าแล้ว ยังเริ่มมีการนำชิ้นงานสำเร็จรูป เช่น ผ้าพันคอ เสื้อ หรือผ้าเช็ดหน้า ที่มีเส้นใหญ่เหมาะสม มาผสานกับศาสตร์มัดย้อมกับคราม ก่อเกิดเป็นเครื่องนุ่งห่มที่มีความสวยงามร่วมสมัยน่าสวมใส่มากขึ้นอีกด้วย จนเริ่มเป็นที่นิยมทั้งในประเทศและดังไกลไปถึงต่างประเทศ เช่น ประเทศญี่ปุ่นก็มีการสั่งนำเข้าชิ้นงานผ้าย้อมครามจากจังหวัดสกลนคร เป็นต้น

ดังนั้นถ้าจะถามว่า ทำไมคนไทยอย่างเราควรซื้อหาผ้าย้อมครามมาสวมใส่? จะให้ตอบว่าเพื่อให้สีเข้มๆของครามช่วยกัน UV ก็อาจพูดได้ไม่เต็มปากนัก (เพราะบางดีไซน์ ก็เป็นเสื้อแขนสั้น แถมไม่ได้ย้อมครามหมดทั้งชิ้นงาน) แต่ถ้าจะบอกว่า เพื่อช่วยส่งเสริมความเป็นไทยให้อัตลักษณ์ของชาติเรายังคงเข้มขรึมดุจสีคราม นั่นคงเป็นเหตุผลที่ชวนคล้อยตามมากที่สุดเลยจริงไหม

Opmerkingen


Featured Posts
Recent Posts
Archive
Search By Tags
Follow Us
  • Facebook Basic Square
  • Twitter Basic Square
  • Google+ Basic Square

สงวนลิขสิทธิ์ © 2558-2559 3P GARMENT ( 3พี การ์เม้นท์ )
บริษัท พี.พี.พี.แอพพาเรล จำกัด
ออฟฟิศ : เลขที่ 8/19 อนินทาวน์ ซ.เทียนทะเล 7 แขวงท่าข้าม เขตบางขุนเทียน กทม. 10150
                                         โรงงาน : 1305/63 ถ.สุขเกษม ต.ธาตุเชิงชุม อ.เมือง จ.สกลนคร 47000                                               
Email:3pgarment@gmail.com
Tel : 093-416-4848 Tel :  086-1413444

bottom of page